11. ก้าวออกจากcomfort zone จากสิงห์เป็นหนู

    หลังจากลาออกจากรามาธิบดี งานทุกอย่างที่ทำที่นมะรักษ์ ทุกอย่างคือชีวิตจริง ไม่มีแต้มต่อจากการเป็นอาจารย์หรือเป็นผู้บริหารในโรงเรียนแพทย์อีกต่อไปแล้ว ทำอย่างไรให้SME มือใหม่อย่างเรามีอำนาจต่อรองมากขึ้น เรื่องการซื้อเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเงินลงทุนก้อนใหญ่ของธุรกิจ เรานั่งสุมหัวกัน 3 คนว่าทำอย่างไรดี เราใช้กลยุทธ์หาพาร์ทเนอร์ ไม่ใช่หาเวนเดอร์

    อันดับแรก เรามานั่งคิดก่อนว่า Core business ของเราคือเรื่องเต้านม ดังนั้นเครื่องมือเรื่องเต้านมเราต้องเป็นเลิศ ไปนั่งคุยกับหมอเอกซเรย์หลายคน จนรู้ว่าเครื่องแมมโมแกรมยี่ห้อที่หมอเอกซเรย์ต้องการ คือ Hologic เหมือนยุคหนึ่ง ถ้าจะซื้อสมาร์ทโฟนต้องไอโฟนเท่านั้น ตัดสินใจได้ดังนั้น เราก็จิ้มเลยเริ่มจาก Hologicก่อนเลย บริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายคือ BJC Healthcare โดยมีพี่สุเป็นหัวเรือใหญ่ของ BJC ในช่วงนั้น เราติดต่อพูดคุย พี่สุส่งคุณนิดเข้ามาเป็นคนช่วยดูแล ในช่วงต้นปี 2561 ทางทีม BJC พาหมอเอกซเรย์เมืองไทยไปประชุมฮ่องกง จึงชักชวนให้เราไปดูคอนเซ็ปท์ของ Breast clinic ที่ฮ่องกง เรา 3 คนตัดสินใจควักเงินตัวเองเดินทางโดยไม่ได้ใช้สปอนเซอร์ เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นข้อผูกมัดอะไร หลังจากไปฮ่องกง เราเห็นการจัดการและเครื่องมือที่เราต้องการ และโชคดีที่ BJC เรียกว่าเป็นเจ้าใหญ่ ในเรื่องเครื่องมือแพทย์ เราเดินหน้าคุยกับทีม BJC เรียกว่าเครื่องมือในแผนกเอกซเรย์และห้องผ่าตัด เราใช้ของ BJC เกือบทั้งหมด ทำให้งบประมาณที่เราคุยกับ BJC เปลี่ยนเจ้าหนูตัวจิ๋วเป็นหนูอ้วนๆได้ โชคดีที่ทีม BJC สนับสนุนนมะรักษ์เป็นอย่างดี ทำให้เราก้าวไปได้อย่างมั่นคงมากขึ้น หมดห่วงไปหนึ่งเปลาะ 

เราซื้อเครื่องมือแพทย์กับเจ้าหลักได้แบบล็อตใหญ่ และไม่ต้องกังวลเรื่องการบำรุงรักษา จากความสำเร็จที่เราได้จากกรณีนี้ ทำให้ต่อมาเราพยายามมองหา พาร์ทเนอร์มากขึ้นในส่วนอื่นๆ เช่น การส่งแล็บ การส่งตรวจพิเศษต่างๆ หรือการส่งต่อผู้ป่วยที่ซับซ้อน เพื่อเพิ่มศักยภาพหนูตัวเล็กๆอย่างเรา

 

Remark:: There's no guarantee for fixed result and outcome was uncertainty depend on individual