ถุงน้ำในเต้านมหรือซีสต์
บทความโดย พญ.ปิยวรรณ เกณฑ์สาคู
ถุงน้ำในเต้านม (ซีสต์ หรือ cyst)
หลายคนคงมีความวิตกกังวลและสงสัย เมื่อตรวจพบถุงน้ำในเต้านมหรือที่บางท่านเรียกว่า ซีสต์ ถุงน้ำคืออะไร เจอแล้วต้องทำอย่างไร อาการเป็นแบบไหน ลองมาเช็ค Q&A กันดูค่ะ
Q: ถุงน้ำในเต้านมคืออะไร
A: เป็นถุงในเต้านมที่มีของเหลวอยู่ข้างใน
Q: เกิดจากอะไร
A: เกิดจากฮอร์โมนจากรังไข่ที่ส่งผลต่อเต้านม โดยฮอร์โมนนั้นจะขึ้น-ลงตามรอบ(เดือน) และมีการกระตุ้นเนื้อเยื่อของเต้านมด้วย ถุงน้ำมักจะเกิดในช่วงที่สร้างเนื้อเยื่อเต้านมหรือ ระหว่างรอบเดือน และช่วงที่เริ่มมีการฝ่อของเนื้อเต้านมตามอายุ คือในช่วงใกล้หมดหรือหมดประจำเดือน
Q: ถุงน้ำพบได้บ่อยไหม
A: มีงานวิจัยจากทางสมาคมรังสีแพทย์ของสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้หญิงที่ได้รับการคัดกรองมะเร็งเต้านมร้อยละ 37.5 พบถุงน้ำในเต้านม
Q: มีอาการอย่างไรบ้าง
A: อาจไม่มีอาการหรือบางท่านมาด้วยเรื่องคลำพบก้อนหรือมีอาการเจ็บที่เต้านม โดยเฉพาะเจ็บในช่วงก่อนการมีประจำเดือน สำหรับการตรวจร่างกายนั้น จะไม่สามารถแยกถุงน้ำกับก้อนเนื้อได้
Q: ต้องตรวจอะไรบ้าง
A: เนื่องจากการตรวจร่างกายไม่สามารถแยกก้อนเนื้อกับถุงน้ำได้ สำหรับผู้หญิงที่อายุน้อยจะแนะนำให้ทำอัลตราซาวด์ ส่วนผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35-40 ปี แนะนำให้ทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์เจ้าของไข้ด้วย
Q: ถุงน้ำมีกี่ชนิดและอันตรายหรือไม่
A: แบ่งใหญ่ได้ 3 ชนิด กล่าวคือ
ถุงน้ำที่น้ำข้างในใสกิ๊ง เรียก simple cyst ชนิดนี้ไม่มีความเสี่ยงที่จะกลายไปเป็นมะเร็ง
ถุงน้ำที่น้ำขุ่น เรียก complicated cyst ในกลุ่มนี้มีโอกาสกลายไปเป็นมะเร็งประมาณ ร้อยละ 1 แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำให้เจาะยืนยันว่าเป็นน้ำจริงโดยใช้เข็มเล็ก (Fine needle aspiration)
ถุงน้ำที่มีผนังระหว่างถุง เรียกว่า complex cyst ในกลุ่มนี้พบว่า มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งประมาณ ร้อยละ 1 ถึง 23 แนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อตรวจ เมื่อติดตามไปเรื่อยๆ จากการศึกษาพบว่าถุงน้ำร้อยละ 69 จะหายไปใน 5 ปี
Q: วิธีการรักษา
A: ตามที่กล่าวไปข้างต้น การจัดการที่สำคัญคือ การดูความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งและอาจจำเป็นต้องพิสูจน์ว่าไม่ใช่ หากเป็นถุงน้ำธรรมดา ไม่มีเซลล์มะเร็งหรือเซลล์ที่ผิดปกติก็สามารถติดตามอาการได้ โดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่มียาเพื่อรักษาถุงน้ำ เว้นแต่มีอาการเจ็บร่วมด้วย อาจให้ยาแก้ปวดหรือยาต้านฮอร์โมนบางตัว
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ หลังจากที่ได้อ่านบทความกันไปแล้ว หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์สำหรับผู้หญิงหลายๆ ท่าน แต่หากท่านใดพบความปกติหรือไม่แน่ใจ แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือตรวจคัดกรองประจำปีกันนะคะ