มะเร็งเต้านม รู้เร็ว รักษาได้ โอกาสหายสูง เราจะตรวจคัดกรองอย่างไร จึงจะเหมาะสม

มะเร็งเต้านม รู้เร็ว รักษาได้ โอกาสหายสูง เราจะตรวจคัดกรองอย่างไร จึงจะเหมาะสม

บทความโดย รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน

 

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

       ระยะโรคมีผลเป็นอย่างมากต่อการอยู่รอดหรือหายจากมะเร็งเต้านม หากมีการตรวจพบตั้งแต่เนิ่นจะทำให้เราสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะต้น หรือเจอความผิดปกติก่อนที่จะมีการเปลี่ยนเป็นมะเร็งเต้านม การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมประกอบด้วย

  1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
  2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์
  3. แมมโมแกรมและอัลตราซาวด์

 

1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ควรทำเป็นประจำ ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือหลังประจำเดือนมาวันแรกประมาณ 3-10 วัน โดยมีวิธีการตรวจมีขั้นตอนดังนี้

  • ยืนหน้ากระจก สังเกตว่าเต้านมมีขนาด สีผิว ลักษณะผิวหนังเปลี่ยนไปจากปกติหรือไม่ การชี้ของหัวนมผิดทิศทางหรือไม่
  • ยกมือขึ้นเหนือศีรษะ ดูความผิดปกติต่างๆอีกครั้ง เช่นสังเกตว่ารอยบุ๋มที่ผิวหนัง
  • กดหรือบีบรอบหัวนม ว่ามีเลือดหรือสารคัดหลั่งผิดปกติออกมาจากหัวนมหรือไม่
  • ยกแขนข้างเดียวกับเต้านมที่จะตรวจ แล้วใช้มือข้างตรงข้ามคลำเต้านมทีละข้าง คลำให้ทั่วทั้งเต้านม โดยอาจจะคลำในลักษณะตามเข็มนาฬิกา คลำวนเป็นก้นหอยหรือคลำจากด้านในออกด้านนอกก็ได้ หาว่ามีก้อนในเต้านมหรือลักษณเนื้อเต้านมที่ผิดปกติ
  • เอาแขนลงแล้วคลำบริเวณใต้รักแร้ หาก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองที่โตจนคลำได้
  • เมื่อตรวจในท่ายืนแล้ว ให้ตรวจซ้ำเช่นเดิมในท่านอน โดยนอนหงายแล้วใช้ผ้าหนุนใต้ไหล่ข้างที่จะทำการตรวจ ก่อนเริ่มทำการตรวจเต้านม

ลักษณะที่ผิดปกติ เช่นคลำได้ก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ มีเลือดหรือน้ำออกจากหัวนม หัวนมชี้ผิดทิศทาง แผลที่ผิวหนังหรือหัวนม ผิวหนังบุ๋มหรือมีลักษณะดึงรั้ง เต้านมมีขนาดไม่เท่ากัน เนื้อเต้านมหนากว่าปกติ ผิวของเต้านมลักษณะบวมเหมือนผิวส้มโอ เป็นต้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย

 

2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์

การตรวจเต้านมด้วยแพทย์ มีความจำเป็น ผู้ป่วยมักมีความเข้าใจผิดว่าหากทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์แล้ว น่าจะเพียงพอแล้วไม่จำเป็นให้แพทย์ต้องตรวจอีก ซึ่งที่ถูกต้องการตรวจเต้านมด้วยแพทย์ยังมีความจำเป็น เพราะการตรวจด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์จะสามารถตรวจพบได้เพียง 85-90% แพทย์จะตรวจเพื่อยืนยันว่าไม่มีความผิดปกติอื่นอีกเช่นกรณีมีเลือดออกจากหัวนม หรือมีแผลที่หัวนม มักจะไม่เห็นความผิดปกติจากการทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์ เพื่อทำให้การตรวจคัดกรองเต้านม สามารถตรวจพบความผิดปกติของเต้านมได้มากขึ้น

 

3. การตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์

การตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์เป็นวิธีการตรวจมาตรฐานในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ทำให้สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการแสดง ทำให้เราสามารถตรวจได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทำให้เพิ่มโอกาสในการหายขาดได้หลังการรักษา อายุและช่วงเวลาที่เหมาะสม ในการตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ในต่างประเทศคือ

สำหรับคนไทย ยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาในคนไทยที่ชัดเจนว่าควรตรวจคัดกรองเมื่อไหร่ แต่อย่างไรก็ตามจากการเก็บข้อมูลสถิติของThai Breast Cancer Study Group พบว่าคนไทยมีอายุที่เริ่มเป็นมะเร็งเต้านมที่น้อยกว่า ชาวตะวันตกประมาณ 10 ปี คือคนไทยมักจะเริ่มเป็นที่ อายุเฉลี่ย 40 ปี ขณะที่คนตะวันตกมักจะเริ่มเป็นที่อายุ 50 ปี นอกจากนี้คนไทยยังมีเนื้อเต้านมที่หนาแน่นมากกว่าชาวตะวันตก ซึ่งการทำอัลตราซาวด์มีความสำคัญในการตรวจคัดกรองในกลุ่มที่มีเนื้อเต้านมหนาแน่น ดังนั้น การคัดกรองมะเร็งเต้านมในคนไทย จึงแนะนำให้

ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งหลังประจำเดือนมาวันแรก 3-10 วัน ตั้งแต่วัยที่เริ่มมีประจำเดือนให้เป็นนิสัย

อายุ 20-40 อาจพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเต้านมด้วยการคลำ ทุก 2-3 ปี

ทำแมมโมแกรมและอัลตราซาว์ ทุก 1-2 ปี ตั้งแต่อายุ40-75 ปี โดยหากทำทุก 2 ปี ในปีที่เว้นการทำแมมโมแกรมอาจทำอัลตราซาวน์เพื่อคัดกรองเพียงอย่างเดียวก็ได้

 

หมายเหตุ:: ไม่มีการรับประกันผลลัพธ์ที่ตายตัวและผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

แกลเลอรี่