Oncoplastic Surgery

การผ่าตัดเต้านมแบบ Oncoplastic 

บทความโดย รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน

 

การผ่าตัดเต้านมแบบ Oncoplastic Breast Surgery

       การผ่าตัดแบบ Oncoplastic เป็นการผสมผสานการผ่าตัดมะเร็งเต้านมกับการทำศัลยกรรมตกแต่งเข้าด้วยกัน เพื่อให้การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัด สามารถควบคุมจัดการมะเร็งได้สูงสุด โดยที่ยังคงความสวยงามของเต้านมได้เหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม การผ่าตัด Oncoplastic แบ่งเป็น  2 กลุ่มใหญ่ๆ คือการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมหรือสงวนเต้า กับการผ่าตัดแบบตัดเต้านมแล้วทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่แทนเต้านมเดิมที่ตัดออกไป

1. การผ่าตัดแบบ Oncoplastic เหมาะสำหรับผู้ที่ทำการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมหรือการสงวนเต้าในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม โดยสามารถเก็บเต้านมหรือสงวนเต้านมไว้ได้ ในกรณีต่อไปนี้

  • ก้อนมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดเต้านม
  • เต้านมมีขนาดใหญ่และคล้อยมาก
  • มะเร็งมีหลายตำแหน่ง
  • มะเร็งอยู่ใกล้หัวนม
  • มะเร็งอยู่บริเวณที่ทำให้แผลผ่าตัดไม่สวย

       นอกจากนี้การผ่าตัดแบบ  Oncoplastic ยังมีอีกหลากหลายเทคนิค เพื่อให้เต้านมมีความสวยงามและมีความสมมาตรกันของเต้านมทั้ง 2 ข้าง เช่นการผ่าตัดย้ายเนื้อไขมันจากบริเวณข้างๆ  เข้ามาปิดแทนช่องว่างที่ตัดมะเร็งออกไป หรือการผ่าตัดยกกระชับหรือ ลดขนาดเต้านมทั้งสองข้าง ให้สมดุลกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีเต้านมขนาดใหญ่มากๆ การผ่าตัดลดขนาดเต้านมร่วมไปกับการผ่าตัดมะเร็งจะทำให้การฉายแสงหลังผ่าตัดง่ายขึ้นและลดปัญหาแทรกซ้อนจากการฉายแสง

2. การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม

       ในบางรายที่จำเป็นต้องทำการตัดเต้านม การผ่าตัดแบบ Oncoplastic ก็คือการทำเต้านมขึ้นมาใหม่ โดยการทำผ่าตัดชนิดนี้มีเทคนิคที่หลากหลาย ตั้งแต่เทคนิคการตัดเต้านม เทคนิคการเสริมเต้านม และการสร้างหัวนม

       - เทคนิคการตัดเต้านม มีส่วนสำคัญมากในการทำให้เต้านมใหม่มีความสวยงามใกล้เคียงเดิมมากที่สุด เพราะหนังของเต้านมเดิมเปรียบเสมือนถุงที่จะห่อหุ้มเต้านมใหม่ที่บรรจุอยู่ภายใน เดิมการตัดเต้านมจะทำการตัดผิวหนังออกค่อนข้างมาก แต่จากการวิจัยพบว่าไม่มีความจำเป็นต้องตัดออกทั้งหมด ตัดออกเฉพาะผิวหนังที่อยู่ชิดกับมะเร็งก็เพียงพอแล้ว ในปัจจุบัน หากจะทำการผ่าตัดเสริมเต้านมในครั้งเดียวกันกับการตัดเต้านม จะทำการตัดเต้านมแบบสงวนผิวหนังเดิม (Skin sparing Mastectomy) นอกจากนี้  ในรายที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 2-3 ซม.และอยู่ห่างจากหัวนมมากกว่า 2 ซม. เราสามารถทำการตัดเต้านมแบบสงวนหัวนม (Nipple sparing mastectomy) การทำตัดเต้านมด้วยเทคนิคนี้จะทำให้เพิ่มความสวยงามของเต้านมได้เป็นอย่างมาก

       - เทคนิคการเสริมเต้านม แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือใช้เนื้อตนเอง และการใช้ถุงซิลิโคน

       การเสริมเต้านมด้วยเนื้อตนเอง (Autogenous Breast reconstruction) ที่นิยมคือใช้เนื้อบริเวณท้องน้อย หรือเนื้อที่หลังย้ายมาทำเต้านมใหม่ การผ่าตัดชนิดนี้ ข้อดีคือ เต้านมใหม่ที่ได้สัมผัสจะได้ใกล้เคียงธรรมชาติ เป็นเนื้อของผู้ป่วยเอง ความปลอดภัยในระยะยาวจะสูงมาก แต่ข้อเสีย คือใช้เวลาผ่าตัดค่อนข้างนาน ประมาณ 4-6 ชั่วโมง และมีแผลผ่าตัดที่อื่นด้วย

       แต่ในช่วงหลังจึงเริ่มมีการใช้เต้านมเทียมหรือถุงซิลิโคนมาใช้ในการเสริมเต้านมกันมากขึ้น โดยถุงซิลิโคนก็มีการปรับปรุงให้มีรูปทรงแบบหยดน้ำเพื่อให้มีทรงใกล้เคียงเต้านมธรรมชาติ นอกจากเดิมที่มีแต่ทรงกลม ผิวของซิลิโคน นอกจากรูปทรงของซิลิโคนแล้ว ผิวสัมผัสของซิลิโคนยังแบ่งเป็น 2 แบบคือแบบผิวเรียบและผิวทราย 

       นอกจากนี้ด้วยนวัตกรรมใหม่มีการนำแผ่นADM มาคลุมถุงซิลิโคนร่วมกับกล้ามเนื้อ จากแต่เดิมที่ใช้วางใต้กล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียว ทำให้รูปทรงเต้านมมีความสวยงามใกล้เคียงธรรมชาติมาขึ้น และล่าสุดในปัจจุบันมีการเสริมเต้านมได้นำแผ่นADM ขนาดใหญ่หรือTitanized Mesh มาทำเป็นถุงPocket คลุมซิลิโคนทั้งอัน วางบนกล้ามเนื้อ โดยไม่ต้องวางใต้กล้ามเนื้อดังเดิม ทำให้เต้านมมีความสวยงามมากขึ้น และลดอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัด

Remark:: There's no guarantee for fixed result and outcome was uncertainty depend on individual

Gallery