Lactation massage for breastfeeding mom

การนวดเต้านมกับการกระตุ้นน้ำนมแม่ 

บทความโดย พญ.ปวีณา เลือดไทย

 

หากพูดถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นที่รู้กันในปัจจุบันว่า "นมแม่" มีคุณค่ามากมาย ทั้งในเรื่องสารอาหาร ภูมิคุ้มกัน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ  คุณแม่หลายคนจึงอยากให้นมแก่ลูกให้ได้มากที่สุด นานที่สุด แต่เส้นทางสายนมแม่นั้น อาจจะง่ายหรืออาจจะยากมากสำหรับใครหลายคน เพราะอาจจะต้องเผชิญปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่หลังคลอด นมน้อย   นมเจ็บ นมตัน และอื่นๆอีกมากมาย

       ปัญหาน้ำนมน้อย เป็นปัญหาหนึ่งที่แม่หลายคนเผชิญตั้งแต่แรกคลอด จนต้องไปหาข้อมูลการเพิ่มน้ำนมด้วยวิธีการต่างๆ ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้างแตกต่างกันออกไป แล้วเราจะเพิ่มน้ำนมได้อย่างไร มีหลายแหล่งข้อมูล บ้างก็ว่ารับประทานอาหารเพิ่มน้ำนม ดื่มน้ำมากๆ บ้างก็ไปนวดนม เสียเงินกันไปมากมาย แล้วมันเพิ่มน้ำนมได้จริงเหรอ วันนี้หมอจะเล่าให้ฟังค่ะ

       ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า กลไกการสร้างและการหลั่งน้ำนมของคนเราเริ่มตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ และพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงหลังคลอด ซึ่งระยะนี้จะประกอบด้วยฮอร์โมนสองชนิดคือ ฮอร์โมนโปรแลคติน และ ออกซิโทซิน โดย ฮอร์โมนโปรแลคติน มีหน้าที่กระตุ้นการสร้างน้ำนมที่เซลล์สร้างน้ำนม และจะถูกกระตุ้นจากปลายประสาทบริเวณหัวนมและลานนม ให้ปริมาณโปรแลคตินในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและคงสูงอยู่ประมาณ 30 นาทีหลังหยุดดูด เพื่อให้มีการสร้างน้ำนมรอสำหรับการให้นมในครั้งต่อไป โดยฮอร์โมนนี้จะสร้างตอนกลางคืนมากกว่ากลางวัน  

       ฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญคือ ฮอร์โมนออกซิโทซิน หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็น ฮอร์โมนแห่งความรัก  ฮอร์โมนตัวนี้จะทำให้เซลล์กล้ามเนื้อที่ต่อมน้ำนมและท่อน้ำนมบีบน้ำนมออกมา หรือเกิดปฏิกิริยาน้ำนมพุ่ง การหลั่งของฮอร์โมนนี้จะขึ้นกับการดูดที่มีประสิทธิภาพ และการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้าของแม่ เช่น การได้เห็น ได้กลิ่น      ได้กอดลูก แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าแม่มีความเครียด ความวิตกกังวล เจ็บปวด ซึมเศร้า ฮอร์โมนนี้ก็จะหลั่งลดลง

       เราได้ทราบถึงกลไกการหลั่งน้ำนมแล้ว มาถึงคำถามที่ว่า การนวดเต้านม ทำให้น้ำนมเพิ่มได้หรือเปล่า ได้มีคนทำการศึกษาและได้ตีพิมพ์ในวารสาร Europian Journal of Obsterics&Gynecology 1994(1) โดยทำการศึกษาคุณแม่หลังคลอด 12 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มแรก ให้ลูกดูดเต้าหลังคลอด อีกกลุ่ม เป็นกลุ่มที่ทำการนวดเต้านมโดยใช้เทคนิคจากประเทศญี่ปุ่น โดยยึดหลักทำอย่างอบอุ่น นุ่มนวล แม่ต้องไม่มีความเจ็บปวดจากการนวด กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มจะได้รับการเจาะเลือดดูระดับของฮอร์โมนโปรแลคตินและออกซิโทซิน  ผลปรากฏว่าฮอร์โมนออกซิโทซินในกลุ่มนวดเต้านมสูงขึ้นจริง แต่ไม่เหมือนกลไกปกติของกลุ่มที่ให้ลูกดูด ซึ่งจะสูงขึ้นๆ ลงๆ (Palsatile) ส่วนฮอร์โมนโปรแลคติน ในกลุ่มนวดเต้านมที่นวดเต้านมไม่ได้สูงขึ้นเท่ากลุ่มที่ลูกดูดนม

       สิ่งที่เกิดขึ้นแปลผลได้ว่าอย่างไร การกระตุ้นให้ลูกดูดนมนั้น ช่วยทั้งการเพิ่มฮอร์โมนทั้งสองชนิด ช่วยทั้งการสร้างและการหลั่งน้ำนม แต่การนวดเต้านมนั้น ไม่ได้ช่วยในเรื่องการสร้างน้ำนม เห็นไหมคะว่า การเพิ่มน้ำนมนั้น จริงๆแล้ว ทำได้ไม่ยากเลย  เพียงแค่อาศัยหลัก 3 ด คือ

  • ดูดเร็ว ดูดภายในหนึ่งชั่วโมงหลังคลอด
  • ดูดบ่อย  ประมาณ 8-12 ครั้งต่อวัน
  • ดูดถูกวิธี และดูดอย่างมีประสิทธิภาพ

       การพัฒนาการนวดเต้ามีหลายแบบ โดยมีการศึกษาในหลายประเทศ ยกตัวอย่าง การนวดเต้านม Therapeutic Breast Massage(2) ถูกนำเสนอในวารสารวิชาการ Journal of Human Lactation 2013

ใช้ในการดูแลแม่ที่มีปัญหานมคัด ท่อนมอุดตัน และนมอักเสบ โดยยึดหลัก กระตุ้นการไหลเวียนของระบบน้ำเหลืองโดยการนวดไปในทางรักแร้ และกระตุ้นการระบายน้ำนมออกมา ซึ่งวิธีนี้คุณแม่สามารถนวดได้เองและบุคลากรทางการแพทย์ก็สามารถทำได้ง่ายๆ รวมถึงไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่คุณแม่ๆด้วย

       พอจะเข้าใจกันแล้วนะคะว่า หัวใจของการให้นมลูก คือ ดูดเร็ว ดูดบ่อย และ ดูดถูกวิธี เพียงเท่านี้ คุณแม่ก็สามารถประสบความสำเร็จในการให้นมลูกน้อยได้แล้ว

       บทความในครั้งต่อไป เราจะมาดูกันว่า แม่ที่มีปัญหาจากการให้นมลูก เป็นท่อนมตัน เต้านมอักเสบฝีที่เต้านม เราจะมีวิธีการดูแลอย่างไรได้บ้าง อย่างลืมติดตามอ่านนะคะ

(1) Yuji Yokoyama,Tochihiro Ureda, MinoruIrahara, Toshihiro Aono.Releasing of oxytocin and prolactin during breast massage and suckling in puerperal woman. Europian Journal of Obsterics&Gynecology and Reproductive Biology 53(1994)17-20           

(2) Bolman, Maya; Saju, L.; Oganesyan, K., Kondrashhova, T., & Witt, A. (2013). Recapturing the art of therapeutic breast massage during breastfeeding. Journal of Human Lactation, 29(3), 328-331.         

ความรู้เพิ่มเติมเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อ่านได้ที่ https://thaibf.com/เวชปฏิบัติการเลี้ยงลูก

Remark:: There's no guarantee for fixed result and outcome was uncertainty depend on individual

Gallery