ถั่วเหลืองกับมะเร็งเต้านม

ถั่วเหลืองกับมะเร็งเต้านม

บทความโดย รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน

 

       คุณสมบัติของถั่วเหลืองมีสารชื่อIsoflavones มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เจริญเติบโต ทำให้กลัวว่าการกินอาหารหรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองอาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามมีการศึกษาที่มีผลว่าถั่วเหลืองมีทั้งเพิ่มและลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

       เราต้องทำความเข้าใจเรื่องกลไกของฮอร์โมนเอสโตรเจนกับมะเร็งเต้านมก่อน ในมะเร็งเต้านมมีทั้งชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน และชนิดที่ไม่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้น กลุ่มที่เราจะกล่าวถึงในเรื่องนี้จะเป็นมะเร็งชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนเท่านั้น และที่แปลกและซับซ้อนเข้าไปอีก ฮอร์โมนเอสโตรเจนเมื่อไปจับกับตัวรับเหล่านี้ ในอวัยวะที่ต่างกัน หรือในสภาวะแวดล้อมที่มีระดับเอสโตรเจนในร่างกายที่ต่างกัน ก็ไม่ได้มีฤทธิ์กระตุ้นเซลล์มะเร็งเต้านมเสมอไป บางครั้งก็มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านมได้เช่นกัน

       กลับมาที่ถั่วเหลือง จะยับยั้งหรือเพิ่มความเสี่ยง ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าในคนญี่ปุ่น คนจีนมีอุบัติการณ์มะเร็งเต้านมที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับชาวตะวันตก จึงมีการศึกษาเรื่องการกินอาหารพบว่าเป็นอาหารไขมันต่ำและกินถั่วเหลืองมากกว่าชาวตะวันตก จึงมีความเชื่อว่ากินถั่วเหลืองป้องกันความเสี่ยงมะเร็งเต้านม เช่นมีการวิจัยในผู้หญิงจีนประมาณ 70,000 คน เทียบระหว่างกินถั่วเหลือง วันละ 13 กรัมเทียบกับกลุ่มที่กินวันละ 5 กรัมพบว่าการเกิดมะเร็งเต้านมในกลุ่มที่กินวันละ 13 กรัมต่ำกว่ากลุ่มที่กินวันละ 5 กรัมถึง 11% นอกจากนี้มีการวิจัยบางวิจัยบอกว่าถั่วเหลืองจะไปแย่งไม่ให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนจับกับเซลล์มะเร็ง เป็นการป้องกันมะเร็ง แต่บางวิจัยที่วิจัยถั่วเหลืองมีผลรบกวนการรักษาในกลุ่มที่ได้ยาต้านฮอร์โมนซึ่งออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ

      สำหรับการศึกษาที่บอกว่าถั่วเหลืองกระตุ้นเซลล์มะเร็ง เช่นการศึกษาจากMemorial Sloan Kettering Cancer Center และ Weill Cornell Medical College ได้ทำการทดลองแบบสุ่มในคนไข้มะเร็งเต้านมระยะที่ 1 และ 2 จำนวน 140 คน กลุ่มหนึ่งให้กินโปรตีนถั่วเหลืองประมาณ 52 กรัม(เทียบเท่านมถั่วเหลือง 4 ถ้วย) เทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่กิน เป็นเวลา 2–3 สัปดาห์ ก่อนการผ่าตัด พบว่ากลุ่มที่กินถั่วเหลือง มีการเติบโตของมะเร็งมากกว่ากลุ่มที่ไม่กิน แต่อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ก็ยังไม่ได้มีการติดตามที่นานพอ ที่จะบอกว่าถั่วเหลืองเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมข้อสรุปจากรศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนมะรักษ์ เฉพาะทางด้านเต้านม ได้แนะนำว่า การกินถั่วเหลืองไม่ได้เป็นข้อห้ามหรือเพิ่มความเสี่ยง สามารถกินได้ โดยให้ปฏิบัติดังนี้
     1. ถั่วเหลืองสามารถที่จะกินได้ทั้งคนทั่วไปและผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป
     2. การกินถั่วเหลืองวันละ 1-2 หน่วยบริโภคอาจลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม
     3. ควรกินถั่วเหลืองที่ได้จากอาหารทั่วไป ไม่ควรกินในรูปแบบอาหารเสริม หรือถั่วเหลืองสกัด เพราะจะมีปริมาณที่เข้มข้นมากเกินไป
     4. ในกลุ่มที่เป็นมะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก ในช่วงที่อยู่ในระหว่างการรักษาตัวเช่นก่อนผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยงการกินถั่วเหลืองในปริมาณสูง- ปริมาณอาหาร ที่เทียบเท่า ถั่วเหลือง 1 หน่วยบริโภค เช่น
          -  เต้าหู้ ½ ถ้วยตวง 
          -  ถั่วเหลืองต้มสุก ½ ถ้วยตวง
          -  ซอสมิโซะ 1 ช้อนโต๊ะ
          -  นมถั่วเหลือง 1 ถ้วยตวง
          -  โยเกิร์ตถั่วเหลือง 1 ถ้วยตวง
          -  แป้งถั่วเหลือง ¼ ถ้วยตวง

 

 

หมายเหตุ:: ไม่มีการรับประกันผลลัพธ์ที่ตายตัวและผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

แกลเลอรี่