อาการปวดเต้านม
บทความโดย พญ.ปวีณา เลือดไทย
อาการปวดเต้านม เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มาปรึกษาที่คลินิกเต้านม
หลายคนคงกังวลว่าการปวดแบบนี้จะเป็นมะเร็งหรือไม่ มาดูซิว่าอาการปวดเต้านมมีสาเหตุจากอะไรได้บ้างและมีวิธีการดูแลรักษาอย่างไร
อาการปวดเต้านมนั้น มีสาเหตุได้หลากหลายมาก ทางการแพทย์แบ่งได้ 3 แบบใหญ่ๆ คือ
1. การปวดที่สัมพันธ์กับรอบเดือน
2. การปวดที่ไม่สัมพันธ์กับรอบเดือน
3. การปวดที่เกิดจากสาเหตุภายนอกเต้านม
อาการปวดเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับรอบเดือน อาจจะปวดข้างเดียว หรือสองข้าง อาจมีจุดที่ปวดเฉพาะที่ ในกรณีเช่นนี้ต้องตรวจดูว่ามีความผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ก้อนเนื้องอก สารคัดหลั่งที่ผิดปกติ มีการบวมแดงร้อนหรือไม่ รวมถึงการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การทำอัลตราซาวด์ ถ้าพบสาเหตุก็รักษาไปตามสาเหตุนั้นๆ สำหรับมะเร็งเต้านมในระยะแรก ๆ มักไม่มีอาการปวดเต้านมยกเว้น ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ มีแผล หรือมีการอักเสบ
อาการปวดเต้านมที่เกิดจากสาเหตุภายนอกเต้านม เช่น กล้ามเนื้อหน้าอก กระดูกเอ็นข้อต่อและกระดูกอ่อนบริเวณหน้าอก ภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งสามารถพบได้เช่นกัน เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ จะได้รับการซักประวัติตรวจร่างกาย การตรวจพิเศษเพื่อหาสาเหตุและประเมินระดับความปวด โดยทั่วไปผู้ป่วยจะกลัวการเป็นมะเร็งเต้านม เพราะฉะนั้นแพทย์จะพยายามตรวจค้นเพื่อแยกมะเร็งเต้านมออกไป และให้คำยืนยันเพื่อให้ผู้ป่วยคลายความกังวล ซึ่งมีการศึกษามาแล้วว่า ในผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจค้นเพื่อแยกมะเร็งเต้านมออกไปแล้ว การให้คำแนะนำเพียงอย่างเดียว สามารถทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวดได้ในผู้ป่วยหลายราย
อาการปวดเต้านมที่สัมพันธ์กับรอบเดือน ถือว่าเป็นภาวะปกติ อาจจะปวดทั้งสองข้างหรือปวดทั่วๆ บางคนปวดร้าวมาที่รักแร้ ปวดมากขึ้นก่อนหรือเริ่มมีรอบเดือน ในกรณีนี้ ถ้าปวดมากจนมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือทำให้กังวลใจ การให้ยาแก้ปวด และการให้ยาเพื่อปรับลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรแลคติน
การรักษาอาการปวดเต้านม จะรักษาตามสาเหตุ เมื่อตรวจยืนยันแล้วไม่พบสาเหตุ แต่ผู้ป่วยยังมีอาการปวดอยู่มาก ก็จะมีการรักษาโดย การให้ยาแก้ปวด เริ่มตั้งแต่กลุ่มพาราเซตามอล กลุ่มยาแก้ปวดแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยากลุ่มมอร์ฟีนและอนุพันธุ์ของมอร์ฟีน จนถึงยาที่ลดระดับฮอร์โมน เช่น Danasol, Bromocriptine เป็นต้น โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการใช้ยาตามระดับความรุนแรงของอาการปวด
ส่วนการรักษาอื่นๆ แนะนำให้ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก ปรับเปลี่ยนชนิดของเสื้อยกทรง การงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เพิ่มอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว เช่น อีฟนิ่งพริมโรสออยหรือน้ำมันดอกทานตะวัน ซึ่งในกรณีนี้ ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มที่ให้ยาหลอก พบว่าการปวดลดลงเท่าเทียมกัน แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีแพทย์ส่วนหนึ่งยังแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมดังกล่าวได้ เพราะไม่ได้มีผลข้างเคียงที่รุนแรงอย่างไรก็ตามถ้ามีอาการผิดปกติใดๆเกี่ยวกับเต้านม แนะนำมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยก่อน