What causes lump in a lactating breast?

ก้อนในเต้านมแม่ให้นมบุตร เกิดจากอะไรได้อีก

บทความโดย พญ.ปวีณา เลือดไทย 

 

       หัวข้อในวันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องของแม่ให้นมกันอีกแล้ว หลังจากที่คุณหมอหญิงได้เล่าถึง ภาวะถุงน้ำนม หรือ galactoceleไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงก้อนที่เต้านมในแม่ให้นมว่ามีอะไรได้อีกบ้าง และตรวจรักษาได้อย่างไร 

ในคุณแม่ให้นม เมื่อมีก้อนที่เต้านม มีสิ่งที่อาจเป็นได้หลายอย่างค่ะ ไม่ได้เป็นจากท่อนมตันเพียงอย่างเดียว แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ ก้อนที่เกี่ยวข้องกับการให้นม (Lactation-specific masses)  และก้อนที่ไม่เกี่ยวข้อง (Non-lactation-specific mass)

       กลุ่มแรก  Lactation-specific masses ตัวอย่างเช่น 

1) Accessory breast tissue หรือบางคนเรียกว่า เต้านมส่วนเกินที่ใต้รักแร้ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่เกิด ในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร เต้านมส่วนนี้จะมีการเติบโตขึ้น ทำให้รู้สึกคัดๆตึงๆ หรือบางคนมีอาการระคายเคืองเวลาใส่เสื้อชั้นใน  ซึ่งถ้าภายหลังการให้นมบุตรแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม

2) ท่อนมตัน ถุงน้ำนม (Blocked duct , galactocele) ซึ่งพบได้บ่อย เกิดจากการมีน้ำนมค้างในเต้านมเป็นเวลานาน  ท่อนมตันแก้ไขโดยการให้มีการระบายน้ำนมออกจากเต้านมบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูดนม ปั๊มนม การนวดระบายน้ำนม ถ้าเป็นภาวะมีถุงน้ำนมอาจแก้ไข้ด้วยการเจาะดูดออก

3) เต้านมอักเสบ ฝีที่เต้านม(Mastitis,Breast abscess)  จะมีอาการปวด บวม แดงร้อน ที่เต้านม มีไข้ กลุ่มนี้รักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ การระบายหนอง ไม่ว่าจะเป็นการเจาะดูดหนอง หรือการผ่าตัดระบายหนอง ถ้ามีข้อบ่งชี้

4) Lactating adenoma เป็นเนื้องอกของเต้านมที่เกิดจากมีการกระตุ้น ของฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ ก้อนโตขึ้นได้เร็ว ไม่เจ็บ และยุบลงเมื่อหยุดการให้นม อย่างไรก็ตามควรได้รับการเจาะชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย

       กลุ่มต่อมาคือ ก้อนที่ไม่เกี่ยวกับการให้นม ตัวอย่างเช่น 

1) กลุ่มของถุงน้ำและเนื้องอกในเต้านม เช่น Cyst, Fibroadenoma , Phyllodes tumor , fat necrosis , Pseudoangiomatous Stromal Hyperplasia ก้อนในกลุ่มนี้พบได้ทั้งในผู้หญิงที่ไม่ได้ให้นมและให้นม ซึ่งควรได้รับการตรวจวินิจฉัย

2) มะเร็งเต้านม ถ้ามีก้อนในเต้านมควรนึกถึงไว้ด้วย โดยเฉพาะถ้ามีอาการนานกว่าสองสัปดาห์ 

(ในบทความต่อๆไปจะเล่าถึงรายละเอียดของมะเร็งเต้านมในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร)

       ถ้าตรวจพบก้อนที่เต้านมแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป คุณหมอจะซักประวัติ ตรวจร่างกายและ ตรวจทางรังสีวิทยาเพิ่มเติมโดยการตรวจ แมมโมแกรมและอัลตราซาด์เต้านม ซึ่งจะบอกได้ว่า ก้อนที่เราตรวจเจอนั้น เป็นก้อนของถุงน้ำ ถุงน้ำนม เนื้องอก หรือมีการอักเสบบริเวณไหน ถ้ามีก้อนเนื้องอก ก็อาจจะแนะนำให้มีการเจาะตรวจชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนต่อไป 

สุดท้ายหมอก็อยากจะเตือนว่า ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ให้นม คุณแม่ตั้งครรภ์ ถ้าตรวจเจอก้อนที่เต้านมแล้วแนะนำให้มาตรวจเถอะค่ะ ยังมีอีกหลายโรคที่เจอและหมอไม่ได้เอามาเขียนในที่นี้  หลายครั้งที่หมอพบว่าคุณแม่กลัวว่าถ้าเป็นอะไร จะไม่ได้ให้นมลูก ไม่ได้ปั๊มนม แต่สุดท้ายกลายเป็นมะเร็งเต้านมในระยะทีลุกลามแล้ว...

หมออยากจะบอกว่า...ลูกอยากกอดแม่..ไม่ได้อยากกอดนม(ที่ปั๊มไว้) ของแม่นะคะ..

Remark:: There's no guarantee for fixed result and outcome was uncertainty depend on individual

Gallery