การทานยาต้านฮอร์โมน Tamoxifen ทำให้กระดูกพรุนจริงหรือไม่

การรับประทานยาต้านฮอร์โมน Tamoxifen ทำให้กระดูกพรุนจริงหรือไม่

 

 

ผู้หญิงในช่วงหมดประจำเดือนหรือวัยทองที่ได้รับยาต้านฮอร์โมนอาจสงสัยว่า การรับประทานยาต้านฮอร์โมน Tamoxifen ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนจริงหรือไม่ นั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ยาต้านฮอร์โมนที่ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1.      ยาต้านฮอร์โมนที่ไปออกฤทธิ์ตรงตัวรับฮอร์โมน Tamoxifen เป็นยาที่ใช้ทั้งในกลุ่มผู้หญิงที่มีประจำเดือนและหมดประจำเดือน ยาตัวนี้จะไปออกฤทธิ์ที่ตัวรับฮอร์โมน ตัวยามีโครงสร้างคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยจะไปแย่งจับที่ตัวรับฮอร์โมน แต่จะมีความพิเศษกว่ายาตัวอื่นที่สามารถไปจับตัวรับฮอร์โมนในแต่ละอวัยวะและออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน ซึ่งในการรักษามะเร็งเต้านมจะออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการสร้างการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง สำหรับผู้ที่รับประทานยาต้านฮอร์โมน Tamoxifen จะช่วยเสริมสร้างกระดูก ในคนที่มีภาวะกระดูกบางจะช่วยทำให้กระดูกกลับมาดีขึ้น แต่ถ้าหยุดรับประทานยา Tamoxifen เปรียบเหมือนกับคนที่ทาครีมที่หน้าทุกวัน เมื่อหยุดทาครีมก็อาจทำให้ผิวหน้าเหี่ยวกะทันหัน เพราะไม่มีตัวกระตุ้นเหมือนเมื่อเราหยุดใช้ยา Tamoxifen ก็จะทำให้กระดูกบางลงทันทีเพราะไม่มีตัวกระตุ้น 

2.     ยาต้านฮอร์โมนที่ไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะสร้างมาจากต่อมหมวกไต ยากลุ่มที่เป็น Aromatase inhibitors จะไปยับยั้งเอนไซม์ Aromatase ยาในกลุ่มนี้มีอยู่ 3 ตัว ได้แก่ Letrozole Anastrozole และ Exemestane ยาทั้ง 3 ตัวนี้ จะไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ถ้าระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ต่ำมากๆ จะมีผลที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนมากขึ้น

 

ดังนั้นในผู้ป่วยที่รับประทานยา Tamoxifen จึงไม่ต้องกลัวปัญหาเรื่องกระดูกพรุนเพราะการรับประทานยา Tamoxifen กลับทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านฮอร์โมน ต้องพิจารณาว่าตัวยาที่แพทย์สั่งให้นั้นเป็น Tamoxifen หรือเป็นกลุ่มยาที่ยับยั้งเอนไซม์ Aromatase  ถ้าได้รับยา Tamoxifen ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลในเรื่องของภาวะกระดูกพรุน

 

เมื่อรับประทาน Tamoxifen เป็นเวลานาน เราควรตรวจติดตามเรื่องใดบ้าง

       เมื่อรับประทาน Tamoxifen เป็นเวลานาน มีผลข้างเคียง 2 อย่างที่ต้องเฝ้าระวัง คือ

1.      Tamoxifen ไปออกฤทธิ์ที่โพรงมดลูก จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวมากกว่าปกติ ซึ่งเมื่อเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวมากกว่าปกติ จะทำให้ประจำเดือนมีมากขึ้นมากกว่าปกติ สำหรับผู้ป่วยที่รับประทาน Tamoxifen อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกสูงขึ้น แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมจะมีผลมากกว่า

2.     การเกิดเส้นเลือดดำอุดตัน หรือที่เรียกว่า Deep Vein Thrombosis เช่น เมื่อเวลาที่ต้องนั่งเครื่องบินนานๆ เมื่อลงมาจากเครื่องบินจะพบว่าขาบวม โดย ทุกๆ ชั่วโมงควรขยับขาหรือลุกขึ้นยืน ทำกิจกรรมต่างๆ เช่นเดียวกันกับตัวยา Tamoxifen จะทำให้เกิดภาวะเลือดแข็งตัวมากกว่าปกติ (ซึ่งพบได้น้อยในคนไทย) ผู้ป่วยที่รับประทานยา Tamoxifen ควรดื่มน้ำมากๆ

 

รับประทานยา Tamoxifen ทำให้ประจำเดือนหมดไปหรือไม่

มีความเป็นไปได้ทั้งอย่าง คือ

1.      ประจำเดือนอาจไม่มีเลย

2.     ประจำเดือนมาปกติ มากะปริบกะปรอย หรือมามากกว่าปกติ สิ่งที่ต้องระวังคือ ถ้าประจำเดือนมามากว่าปกติ ต้องรีบมาปรึกษาแพทย์

 

ผู้ป่วยบางรายที่รับประทาน Tamoxifen อาจมีอาการเหมือนภาวะวัยทอง คือ รู้สึกซึมเศร้า หงุดหงิด ร้อนวูบวาบ หากมีอาการเหล่านี้ แพทย์อาจให้รับประทานยาฮอร์โมนทดแทนเพื่อลดอาการวัยทอง ซึ่งอาจจะมีผลในเรื่องของมะเร็ง ดังนั้นทางออกที่ดีสำหรับผู้ป่วยที่รับประทาน Tamoxifen แล้วมีอาการวัยทองคือ การออกกำลังกาย ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง พักผ่อนให้เพียงพอ อาการเหล่นนี้ก็จะค่อยๆ ดีขึ้น

 

 

 

หมายเหตุ:: ไม่มีการรับประกันผลลัพธ์ที่ตายตัวและผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

วีดีโอ

แกลเลอรี่