การตรวจติดตามมะเร็งเต้านม

การตรวจติดตามมะเร็งเต้านม

บทความโดย รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน

 

การตรวจติดตามมะเร็งเต้านม โดยทั่วไปเป็นการตรวจสอบในการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านม ซึ่งมีหลายลักษณะด้วยกัน ทั้งที่เต้านมหรือลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ต่อมน้ำเหลืองที่ไหปลาร้า ที่คอ หรือไปที่อวัยวะอื่นๆ นอกจากนี้ยังต้องตรวจดูว่ามีมะเร็งอย่างอื่นหรือไม่ รักษาแล้วมี อาการแทรกซ้อนจากการรักษาที่เป็นผลระยะยาวกับผู้ป่วยหรือไม่ รวมถึงการติดตามสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยเป็นอย่างไร โดยมีการตรวจติดตามดังนี้

 

1.    ช่วง 3-4 ปีแรก ผู้ป่วยควรมารับการตรวจร่างกายโดยแพทย์อย่างน้อยทุก 3-6 เดือน แพทย์จะทำการตรวจที่เต้านมว่าคลำได้ก้อน รักแร้มีต่อมน้ำเหลือง คลำไหปลาร้าทั้งสองข้าง คลำที่ต้นคอว่ามีต่อมน้ำเหลืองโตหรือไม่ รวมถึงการตรวจตับ ฟังเสียงปอด และตรวจสุขภาพโดยรวม

2.   ถ้าผลตรวจสุขภาพโดยรวมดี จะทำการตรวจ Mammogram และ Ultrasound โดยปกติการทำ Mammogram และ Ultrasound จะไม่ทำทันทีหลังการรักษาจบ ต้องรอประมาณ 6 เดือน Mammogram  และ Ultrasound จะตรวจปีละ1 ครั้ง

3.   เจาะเลือด การเจาะเลือดมีหลายชนิด โดยทั่วไปเจาะเพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด  หน้าที่การการทำงานของตับ การเจาะเลือดสำหรับเรื่องมะเร็งเต้านมไม่ได้มีการกำหนดความถี่ในการเจาะเลือดตรวจ ถ้าผู้ป่วยมีการตรวจสุขภาพประจำปีแล้ว หากมีการเจาะเลือดไม่จำเป็นต้องเจาะซ้ำ มีคนไข้หลายท่านสอบถามว่าจำเป็นต้องตรวจสารบ่งชี้มะเร็งได้หรือไหม สำหรับการตรวจนี้อาจไม่จำเป็น

4.   X-ray ผู้ป่วยหลายคนอาจจะขอเอกซเรย์ เพื่อตรวจดูการทำงานตับปอดว่ามีความผิดปกติหรือไม่ การทำ PET Scan ในความเป็นจริงนั้นยังไม่มีหลักฐานว่าเป็นประโยชน์ต่อการตรวจติดตาม ในมาตรฐานทั่วไปของการตรวจพิเศษ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้มีอาการอะไรที่น่าสงสัย ไม่มีความจำเป็นที่ต้องตรวจ

 

นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาเพิ่มเติม ดังนี้

1.    ในผู้ป่วยที่ได้รับยา Tamoxifen อาจต้องตรวจภายในร่วมด้วย

2.   หลังการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลือง แพทย์จะตรวจว่าผู้ป่วยมีแขนบวมหรือไม่ เพื่อที่จะทำการแก้ไขตั้งแต่แรก

3.   การได้รับยาเคมีบำบัดแบบพุ่งเป้า ยาต้าน HER2 จะส่งผลต่อหัวใจ แพทย์จะคอยตรวจดูว่าสมรรถภาพการทำงานของหัวใจปกติหรือไม่ อาจจะต้องตรวจไขมันร่วมด้วย เพราะถ้าผู้ป่วยมีระดับไขมันในเลือดสูงก็จะมีความเสี่ยงในเรื่องของการทำงานของหัวใจได้

4.   ความจำ แพทย์จะตรวจเรื่องความจำของผู้ป่วย เพราะการให้ยาเคมีบำบัดจะมีส่งผลต่อความจำ 

5.   การได้รับยาต้านฮอร์โมน ยาบางตัวจะไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้กระดูกบาง ต้องตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก อย่างน้อยต้อง Scan มวลกระดูกปีละ 1 ครั้ง

6.   น้ำหนักตัว ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องระวังไม่ให้น้ำหนักขึ้น เพราะถ้าผู้ป่วยน้ำหนักตัวมากขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมที่กลับมาเป็นใหม่ได้ 

7.   ชนิดของอาหารที่รับประทาน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง

8.   การติดตามกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย ต้องพยายามส่งเสริมให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ

9.   ระดับความเครียด

 

การตรวจติดตามผู้ป่วยที่รักษามะเร็งเต้านมนี้ ไม่ได้ตรวจติดตามมะเร็งเท่านั้น แต่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย

หมายเหตุ:: ไม่มีการรับประกันผลลัพธ์ที่ตายตัวและผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

วีดีโอ

แกลเลอรี่