รายละเอียด

การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักของมะเร็งเต้านม การผ่าตัดประกอบด้วยการผ่าตัดที่เต้านม ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้และการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม

การผ่าตัดมะเร็งที่เต้านม แบ่งเป็นการผ่าตัดที่เต้านมและการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ โดยการผ่าตัดที่เต้านมมีทั้งการตัดเต้านมออกทั้งเต้า(Mastectomy)และการผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้านม(Breast Conserving Surgery) ในการการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมแพทย์จะทำการผ่าตัดก้อนออกโดยให้มีเนื้อเต้านมที่ดีหุ้มตัวก้อนมะเร็งอยู่ แล้วส่งให้พยาธิแพทย์ตรวจชิ้นเนื้อโดยรอบว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่ หากพบว่ายังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลือก็จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีเซลล์มะเร็งหลงเหลือ การผ่าตัดแบบสงวนเต้านมต้องได้รับการฉายแสงด้วยเสมอเพื่อลดการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง ระยะเวลาในการฉายแสงประมาณ 4-6 สัปดาห์ นอกจากการฉายแสงภายนอกแบบดั้งเดิมแล้ว ที่โรงพยาบาลนมะรักษ์มีเครื่องฉายแสงในห้องผ่าตัดที่ทำพร้อมการผ่าตัดในครั้งเดียว ทำให้ผู้ป่วยมีความสะดวกมากขึ้นไม่ต้องเสียเวลาไปฉายแสงภายนอกและลดข้อแทรกซ้อนจากการฉายแสงภายนอก

การนำต่อมน้ำเหลืองมาตรวจว่ามีมะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ ในอดีตจะทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ออกมาทั้งหมดเพื่อตรวจหามะเร็ง หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงแขนบวม เนื่องจากการไหลกลับของต่อมน้ำเหลืองถูกอุดกั้น ดังนั้นในปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองจะใช้วิธีการผ่าตัดหาต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล(Sentinel node biopsy) ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองต่อมแรกที่รับมะเร็งก่อนที่จะแพร่กระจายไปต่อมถัดไป หากต่อมน้ำเหลืองนี้ไม่มีเซลล์มะเร็งก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองที่เหลือ ช่วยลดความเสี่ยงแขนบวม

ที่รพ.นมะรักษ์จะทำการผ่าตัดหาต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะต้น โดยแพทย์จะทำการฉีดสารที่เต้านม และติดตามท่อน้ำเหลืองไปจนพบต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล แล้วส่งให้พยาธิแพทย์ด้วยวิธี Frozen section เพื่อให้ทราบผลภายใน 1 ชั่วโมง หากพบว่ามีมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง จะเลาะต่อมน้ำเหลืองที่เหลือทันที เพื่อให้การหาต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลมีความแม่นยำมากขึ้น ในการหาต่อมน้ำเหลืองนอกจากการใช้สี 1% Iso sulfan blue เพียงอย่างเดียว ที่โรงพยาบาลนมะรักษ์ยังเพิ่มเทคนิคหาต่อมน้ำเหลืองเรืองแสงด้วยเครื่อง Near field Infrared Fluorescent Camara มาตรวจการเรืองแสงของต่อมน้ำเหลืองหลังฉีดสารIndocyanine green

นอกจากนี้ในรายที่ตัดเต้านมออกทั้งเต้า ยังสามารถทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมในคราวเดียวกันได้เลย เทคนิคการเสริมเต้านม(Oncoplastic Surgery) แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือใช้เนื้อตนเอง และการใช้ถุงซิลิโคน

เสริมสร้างเต้านมด้วยเนื้อตนเอง (Autogenous Breast reconstruction) ที่นิยมคือใช้เนื้อบริเวณท้องน้อย หรือเนื้อที่หลังย้ายมาทำเต้านมใหม่ การผ่าตัดชนิดนี้ ข้อดีคือ เต้านมใหม่ที่ได้สัมผัสจะได้ใกล้เคียงธรรมชาติ เป็นเนื้อของผู้ป่วยเอง ความปลอดภัยในระยะยาวจะสูงมาก แต่ข้อเสีย คือใช้เวลาผ่าตัดค่อนข้างนาน ประมาณ 4-6 ชั่วโมง และมีแผลผ่าตัดที่อื่นด้วย

         ใช้เต้านมเทียมหรือถุงซิลิโคนมาใช้ในการเสริมเต้านม เดิมถุงซิลิโคนจะวางใต้กล้ามเนื้อ ในปัจจุบันมีการนำแผ่นADM มาคลุมถุงซิลิโคนร่วมกับกล้ามเนื้อ ทำให้รูปทรงเต้านมมีความสวยงามใกล้เคียงธรรมชาติมากขึ้น ใช้ แผ่นADM ขนาดใหญ่หรือ Titanized Mesh มาทำเป็นถุง Pocket คลุมซิลิโคนทั้งอันโดยไม่ต้องวางใต้กล้ามเนื้อดังเดิม ทำให้เต้านมมีความสวยงามมากขึ้น และลดอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัด

        ในการผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้ายังสามารถสงวนหัวนมไว้ โดยจะฉายแสงในห้องผ่าตัดที่บริเวณหัวนม เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นซ้ำของมะเร็งบริเวณหัวนม ทำให้หลังเสริมสร้างเต้านมใหม่ มีความสวยงามใกล้เคียงธรรมชาติมากขึ้น ส่วนในรายที่จำเป็นต้องตัดหัวนมออก ก็สามารถมาทำผ่าตัดสร้างหัวนมใหม่ได้เช่นกัน

        การเลือกวิธีการผ่าตัดเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ตามลักษณะโรคที่เป็นและไลฟ์สไตล์ของผู้ป่วย

ค่าบริการ

1.    การผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้านมร่วมกับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ BCT with SLNB

o   แบบดมยาสลบ นอนโรงพยาบาล 1 คืน ค่าบริการประมาณ  240,000-265,000 บาท

2.    การผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้านมร่วมกับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้พร้อมฉายแสงในห้องผ่าตัด BCT(NLB) with SLNB and IORT

o   แบบดมยาสลบ นอนโรงพยาบาล 1-2 คืน ค่าบริการประมาณ  370,000-435,000 บาท

3.    การผ่าตัดเต้านมแบบสงวนเต้านมร่วมกับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ พร้อมผ่าตัดยกเนื้อเยื่อโดยรอบมาทดแทน BCT + local  flap with SLNB

o   แบบดมยาสลบ นอนโรงพยาบาล 1-2 คืน ค่าบริการประมาณ 285,000-320,000 บาท

4.    การผ่าตัดตัดเต้านมออกทั้งเต้า Mastectomy

o   แบบดมยาสลบ นอนโรงพยาบาล 2-3 คืน ค่าบริการประมาณ 235,000-265,000 บาท

5.    การผ่าตัดตัดเต้านมออกทั้งสองเต้า Bilateral Mastectomy

o   แบบดมยาสลบ นอนโรงพยาบาล 2-3 คืน ค่าบริการประมาณ 310,000-360,000 บาท

6.   การผ่าตัดตัดเต้านมออกทั้งเต้าร่วมกับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ Mastectomy with SLNB/ALND

o   แบบดมยาสลบ นอนโรงพยาบาล 3-5 คืน ค่าบริการประมาณ  250,000-285,000 บาท 

7.    การผ่าตัดผ่านกล้องตัดเต้านมออกทั้งเต้าแบบสงวนหัวนมพร้อมฉายแสงหัวนมในห้องผ่าตัดร่วมกับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้และผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม NAC/Skin sparing Mastectomy, SLNB and Implant Reconstruction with Video assisted with IORT

o   แบบดมยาสลบ นอนโรงพยาบาล 3-5 คืน ค่าบริการประมาณ  460,000-550,000 บาท

8.   การผ่าตัดผ่านกล้องตัดเต้านมออกทั้งสองเต้าแบบสงวนหัวนมร่วมกับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้และผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม Bilateral NAC sparing mastectomy with  SLNB/ALND with Bilateral implant with Video assisted

o   แบบดมยาสลบ นอนโรงพยาบาล 3-5 คืน ค่าบริการประมาณ 535,000-565,000 บาท

9.   การผ่าตัดผ่านกล้องตัดเต้านมออกทั้งเต้าแบบสงวนหัวนมพร้อมฉายแสงหัวนมในห้องผ่าตัดร่วมกับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้และผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม โดยใช้เนื้อเยื่อบริเวณหน้าท้องหรือข้างลำตัวร่วมด้วย VDO assisted  NAC sparing mastectomy, Nipple IORT, Silicone and LD/TRAM reconstruction plus sentinel node biopsy

o   แบบดมยาสลบ นอนโรงพยาบาล 3-5 คืน ค่าบริการประมาณ  600,000-690,000 บาท

 

ขั้นตอนการเข้ารับบริการ

       กรณีเป็นผู้รับบริการที่มาตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลนมะรักษ์ สามารถนัดวันผ่าตัดได้ทันที หลังจากที่ศัลยแพทย์ได้ทำการตรวจและแนะนำแนวทางการดูแลรักษาแล้ว

        สำหรับผู้ที่นำผลการตรวจมาจากภายนอก ให้นัดพบศัลยแพทย์ เพื่อทำการตรวจ ดูผลฟิล์ม และผลชิ้นเนื้อ เพื่อการเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสม

        ในรายที่สงสัยว่าอาจมีการแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่น แพทย์จะทำการตรวจค้นหาการแพร่กระจายของมะเร็งก่อนผ่าตัด

        ก่อนทำการผ่าตัดทางโรงพยาบาลจะทำการตรวจเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดก่อน ในบางกรณีที่มีโรคประจำตัวหรือมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือเอกซเรย์ผิดปกติ จะนัดพบอายุแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด

        สำหรับผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด วิตามินอี น้ำมันปลา(FISH oil) แนะนำให้หยุดรับประทานก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 7 วัน

        หลังจากทำการผ่าตัดแล้วทางโรงพยาบาลจะมีการโทรติดตามอาการหลังจากออกจากโรงพยาบาลโดยพยาบาลในวันรุ่งขึ้น และนัดพบแพทย์เพื่อดูแผลและผลชิ้นเนื้อ ประมาณ 5-7 วันหลังหลังผ่าตัด

ระยะเวลา(Cycle time)

การเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด 1-3 วัน

สามารถมาโรงพยาบาลในวันผ่าตัดได้เลย ไม่จำเป็นต้องมานอนโรงพยาบาลล่วงหน้า

ระยะเวลาการผ่าตัด ประมาณ 2 ชั่วโมง หากมีการเสริมสร้างเต้านมร่วมด้วย ประมาณ 4-6 ชั่วโมง

ผลชิ้นเนื้อจะได้รับ ประมาณ 7 วันทำการหลังผ่าตัด

สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนมาโรงพยาบาล

-          ประวัติการรักษาพยาบาลเดิม(หากมี)

-          ผลการทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์ ทั้งผลการรายงานและภาพที่บันทึกในรูปแบบซีดีภาพทางการแพทย์(ระบบPACs)

-          ผลชิ้นเนื้อหากมี

ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ต้องนัดพบก่อนทำการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ

1.    รศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน

2.    พญ.ปวีณา เลือดไทย

3.    พญ.เสริมศรี พงษ์รัตนกุล

4.   ผศ.นพ.ธงชัย ศุกรโยธิน

5.   นพ.มนต์ชัย ลีสมบัติไพบูลย์

6.   พญ.ชญานุตม์ รัตตดิลก

7.    นพ.มาวิน วงศ์สายสุวรรณ

8.    นพ.ฐิติกร ไกรสรกุล

9.   นพ.กัมปนาท นิ่มพูนศรี

10. นพ.ภัทรเชษฐ์ คล้ายเคลื่อน

หมายเหตุ:: ไม่มีการรับประกันผลลัพธ์ที่ตายตัวและผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล